วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

สุขนิยม

จริยศาสตร์ คือ สาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับความดี อะไรคือความดี เกณฑ์ในการตัดสินความดี และการใช้ชีวิตอย่างไรคือการใช้ชีวิตที่ดี
ในครั้งนี้จะกล่าวเฉพาะ เรื่อง “การใช้ชีวิตอย่างไรคือการใช้ชีวิตที่ดี” (อุดมคติของชีวิต)
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มสุขนิยม และอสุขนิยม
เช่นกันในครั้งนี้ก็กล่าวเฉพาะกลุ่มสุขนิยม

สุขนิยม ถือว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์
ซิกมุล ฟรอยด์ นักจิตวิทยาผู้สนับสนุนความเชื่อนี้ กล่าวว่า
“คำถามที่ว่าในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเขามีจุดหมายหรือความตั้งใจอะไรในชีวิต อะไรคือสิ่งซึ่งชีวิตต้องการและปรารถนาที่จะบรรลุถึง ต่อปัญหานี้คำตอบไม่มีอะไรน่าสงสัย มนุษย์แสวงหาความสุข เขาต้องการได้รับความสุขและธำรงมันไว้ การแสวงหานี้มี 2 ด้าน บวกและลบด้านหนึ่งมนุษย์แสวงหาสภาพที่ปราศจากความเจ็บปวดและความทุกข์ อีกด้านหนึ่งเขาแสวงหาความรู้สึกที่เป็นสุขสบาย”
จากคำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า มนุษย์กระทำทุกอย่างก็เพื่อแสวงหา 2 อย่าง
1.การปลอดพ้นจากความทุกข์
2.ความสุข
เบ็นธัม นักปรัชญาชาวอังกฤษผู้สนับสนุนอีกคนกล่าวว่า
“ธรรมชาติได้จัดให้มนุษย์อยู่ภายใต้บงการของนายที่มีอำนาจเต็มสองคน คือ ความเจ็บปวด และความสุขสบาย เพื่อสิ่งทั้งสองนี้เท่านั้นที่เราจะกล่าวได้ว่าอะไรที่เราควรทำ และอะไรที่เราจะทำทั้งหมด ที่เราพูดทั้งหมด สิ่งที่เราคิดทั้งหมด ความพยายามที่เราทำเพื่อจะหลุดจากอำนาจของมันกลับแสดงให้เห็นและยืนยันความมีอยู่ของมัน โดยคำพูดของมนุษย์อาจแสร้างทำเป็นหนีจากอำนาจของมัน แต่โดยความเป็นจริง เขาอยู่ใต้อำนาจของมันตลอดเวลา”
จากคำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า มนุษย์อยู่ใต้อำนาจของ 2 สิ่งคือ
1.ความเจ็บปวด
2.ความสุขสบาย
และพฤติกรรมที่ทั้งความคิดและการกระทำของเรานั่นแหละ ที่เป็นตัวบ่งชี้ เป็นหลักฐานที่บอกให้ทราบว่าเราทำทุกอย่างเพื่อ 2 สิ่งนี้ หนึ่งเพื่อให้ไม่มีมัน สองคือเพื่อให้มีมัน
ลัทธิจารวากของอินเดีย ให้ความเห็นว่า
“จุดหมายเพียงอย่างเดียวของมนุษย์คือความสุขที่ได้จากความพอใจทางประสาทสัมผัส ท่านไม่ควรกล่าวว่า ความสุขมิใช่จุดหมายเพียงเพราะว่ามีความทุกข์เจือปนอยู่ เราน่าจะฉลาดพอที่จะหาความสุขที่บริสุทธิ์เท่าที่จะมากได้และหลีกเลี่ยงความทุกข์ที่จะตามมา ดุจดังคนที่อยากจะกินปลาก็ต้องนำปลามาทั้งตัวพร้อมทั้งครีบและก้างแล้วเกลือกินส่วนที่พอใจ หรือดุจคนที่อยากกินข้างก็ต้องนำข้างมาทั้งรวงและฟางเลือกสรรส่วนที่กินได้จนพอใจ จงอย่าให้การกลัวความทุกข์มาขัดขวางการหาความสุข ซึ่งสัญชาตญาณบอกเราว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”
ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งสิ่งที่พอใจบ่อยครั้งก็มีสิ่งที่ไม่พอใจติดมาด้วย ทว่าเพราะเราต้องการความสุข เราจึงพยายามและหาวิธีคัดเอาแต่สิ่งที่พอใจ และขจัดสิ่งที่ไม่พึงพอใจออกไป
กล่าวคือจุดหมายที่แท้จริงของเราคัดเอาความสุข และขจัดความทุกข์ออกไปนั่นเอง
เอพิคคิวรัส นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวว่า
“จุดหมายของการกระทำทั้งปวงของเราอยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์และความกลัว เมื่อเราได้บรรลุสิ่งนี้แล้วเราก็สบาย ความสุขเป็น ก. ข. ของชีวิตที่สมบุณณ์ ความสุขเป็นสิ่งประเสริฐของเรา
...แต่มิใช่ว่าความสุขอะไรก็ได้ที่เราจะแสวงหา บางทีเราต้องการสิ่งที่ให้ความสุขน้อยกว่าความทุกข์ แต่บางทีเราถือว่าความทุกข์ดีกว่าความสุข ถ้ามีการทุกข์ ๆ สามารถก่อให้เกิดความสุขที่มากกว่าได้ ดังนั้นแม้ว่า ความสุขสบายซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของเราจะเป็นสิ่งดี แต่มิใช่ความสุขทุกอย่างเป็นสิ่งที่ควรแสวงหา...
เราจะต้องรู้จักคิดคำนวณว่าสิ่ง ๆ หนึ่งมันให้ปริมาณความสุขหรือความทุกข์มากกว่ากันในระยะสั้นยาว...”
เราอาจนำคำกล่าวนี้ไปพิจารณากรณีของคนที่เสียสละเพื่อคนอื่นและตัวเองต้องทุกข์ได้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นก็เพราะการเสียสละแม้ให้ความทุกข์แต่เมื่อพ้นมันไปความสุขที่ได้หลังจากนั้นจะมีมหาศาล (ความภูมิใจ)
อิพิวคิวรัส ได้ย้ำกับเราอีกครั้งว่าเราล้วนหนีความทุกข์ และปรารถนความสุข ขณะเดียวกันเราก็สามารถใช้ความทุกข์เป็นเครื่องช่วยเสริมให้ความสุขที่เกิดขึ้นตามมามีปริมาณมากยิ่งขึ้นได้ ในอีกด้านหนึ่งความสุขบางประเภทก็สามารถทำให้ความทุกข์ที่ตามมีปริมาณมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: