วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2550

วิถีของสายน้ำ


วันดีคืนดีในเดือนที่อากาศร้อนแสนร้อน ก็เกิดหวนไปคิดถึงเรื่องเก่าก่อน มันเป็นอดีตที่ผ่านมาไม่นานนัก
แต่ก็ดูเหมือนห่างไกลจากปัจจุบันพอสมควร...
ยามนั้นยังยืนอยู่บนระเบียงหน้าห้องพัก เหม่อมองสายน้ำที่ไหลล่อง
และอาจด้วยแดดร่มลมตก ของยามเย็น จึงพาตัวเองเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อลองสัมผัสกับความชุ่มชื้น ทว่ากระแสการไหลของมันรุนแรงกว่าที่เห็นภายนอก คงเป็นดังภาษิตที่ว่า น้ำนิ่งไหลลึกกระมัง
ผิวน้ำที่คล้ายกับเจียมเนื้อเจียมตัว กลับเก็บกักความกราดเกรี้ยวไว้ภายใน ซึ่งหากยืนมอง ก็จะไม่มีทางรู้เลย ว่าเพียงแค่เท้าข้างหนึ่งถูกหย่อนลงไป ขาก็ถูกแรงกระชากจนเกือบเสียการควบคุม
และจะเพราะความตกใจหรือสัญชาติญาณ ก็ไม่รู้แน่...จึงรีบหดขากลับทันที
ใช้เวลาทำสมาธิชั่วครู่ จึงค่อยคลายความตกใจ เกิดความคิดว่า “ความจริงแล้วสายน้ำอาจไม่รุนแรง
เพียงแต่เพราะไม่เคยชินก็เท่านั้น”ว่าแล้วก็ค่อย ๆ หย่อนเท้าลงไปอีกครั้ง...
ในช่วงแรก ๆ แรงกระชากก็ยังรุนแรง ต่อเมื่อนานไป ก็ค่อย ๆ ทนทานได้
สามารถควบคุมเท้าที่หย่อนลงไปได้ดีกว่าเดิม
ดังนี้แล้ว จึงเพิ่มขาลงไปอีกข้างหนึ่ง...

เมื่อคุ้นชินกับสายน้ำแล้ว ความแปลกหน้าก็หมดไป รู้จังหวะถอย จังหวะลุก จึงสามารถนั่งแช่เท้าได้อย่างสบายอารมณ์ ไร้กังวล...
และแล้วความคิดก็หวนคิดไปถึงข้อความหนึ่งที่เคยได้ยิน...“เราไม่มีวันก้างลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง เพราะทันทีที่เท้าสัมผัส ทั้งตัวเราและแม่น้ำ ก็ต่างไปจากเดิมเสียแล้ว”
ในวัยเด็กถ้าได้ยินข้อความนี้ ก็ให้รู้สึกมึนงง ในวัยที่โตขึ้นมานิด ถ้าได้ยินก็คงไม่เห็นด้วย เพราะว่า “แม่น้ำก็คือแม่น้ำจะ เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ เช่นกันตัวเราก็คือตัวเรา เปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้อีก”
แต่ในวัยที่โตขึ้นมาอีกหน่อย เปิดรับความรู้มากขึ้น ถ้าได้ยินอีกก็ให้หวนคิดว่าคงจะมีส่วนจริง
เพราะว่า “แม่น้ำไม่เคยหยุดนิ่ง ไหลตลอดเวลา จุดที่เราเคยเหยียบแล้ว หากมาเหยียบอีกที สายน้ำตรงนั้นก็ไม่ใช่สายน้ำสายเดิมอีก เช่นเดียวกับตัวเรา...ที่ภายนอกคือร่างกายก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งถ้ามองลึกลงไปในระดับเซลล์ได้ก็จะพบว่า เราวันนี้กับเราเมื่อวานมีเซลล์ไม่เหมือนกัน อย่าว่าแต่ภายในอารมณ์ เมื่อย่างก้าวลงไปครั้งแรกกับครั้งที่สอง ก็ใช่ว่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกัน”

บ่อยครั้งเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อถอย มักจะคิดถึงสายน้ำ ยิ่งถ้ามีโอกาสอยู่ใกล้ ๆ มันด้วยแล้ว...ก็คงจะมองด้วยใจจดจ่อ อยู่เป็นนานทีเดียว
ด้วยการมองสายน้ำ ทำให้คิดถึงวิถีของมัน
“สายน้ำเดินทางแต่เพียงข้างหน้า และผันตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น...เราจึงไม่สามารถก้าวลงไปในแม่น้ำได้ถึงสองครั้ง”
ดังนี้...
ถ้าสามารถเดินตามวิถีของสายน้ำได้ ยามเมื่อพลาดผิด ความทุกข์ก็คงเกาะกินใจ ได้ไม่นาน...เพราะเราก้าวไปแต่เพียงข้างหน้า และผันตัวตลอดเวลา ดังนั้น...ความทุกข์จึงไม่สามารก้าวลงไปในจิตใจได้ถึงสองครั้ง

ปล. จำไม่ได้แล้วว่าตัวเองนั่งแช่น้ำอยู่นานเท่าไร เท้าจึงเปื่อยได้ขนาดนี้...แต่ที่รู้ก็คือ “เท้าเปื่อยวันนี้ พรุ่งนี้ก็เปื่อยน้อยลง วันต่อมาก็เปื่อยน้อยลง ยิ่งนานก็ยิ่งน้อยลง เช่นนี้...จะกลัวไปใยกับการเปื่อยของเท้า หากยังมีพรุ่งนี้ให้ก้าวเดิน”

ไม่มีความคิดเห็น: