เพลโต
เพลโต (428-347 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นลูกศิษย์ของโสคราตีสช่วงหนึ่งซึ่งติดตามการไต่สวนคดีของเขาอย่างใกล้ชิด (ที่ภายหลังโสคราตีสถูกตัดสินให้ดื่นยาพิษฆ่าตัวตาย) การที่ชาวเอเธนส์ตัดสินประหารพลเมืองที่มีคุณธรรมที่สุด ไม่เพียงทำให้เขาสะเทือนใจ แต่ยังมีผลต่อแนวคิดปรัชญาทั้งหมดของเขาด้วย
สำหรับเพลโตความตายของโสคราตีสเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ผลงานแรกของเพลโตในฐานะนักปรัชญาคือการเขียน บันทึกการแก้ข้อหาของโสคราตีสต่อคณะลูกขุน
เพลโตตั้งสำนักปรัชญาของเขาเอง อยู่ที่ชายป่าไม่ไกลจากกรุงเอเธนส์ เขาตั้งชื่อสำนักตามวีรบุรุษในตำนานของกรีก คือ อะคาเดมุส ทำให้สำนักเขาเป็นที่รู้จักกันในนาน “อะคาเดมี” วิชาที่สอนที่อะคาเดมีของเพลโต คือ ปรัชญา คณิตศาสตร์ และยิมนาสติก
สิ่งที่เพลโตสนใจ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ “เลื่อนไหล” (แนวคิดของนักปรัชญายุคก่อนเพลโต เช่น เฮราครีตุส)
เพลโตเชื่อว่าทุกอย่างที่จับต้องได้ในธรรมชาตินั้น “เลื่อนไหล” จึงไม่มีสสารใดที่ไม่เสื่อมสลาย ทุกอย่างที่อยู่ในโลกของวัตถุ เกิดจากวัตถุที่เลื่อนไปตามกาลเวลา แต่ทุกอย่างถูกจำลองมาจาก “แม่พิมพ์” หรือ “แบบ” ที่อยู่เหนือกาลเวลา เที่ยงแท้และไม่เปลี่ยนแปลง
ม้าทุกตัวเหมือนกัน แต่มีบางอย่างที่ม้าทุกตัวมีร่วมกัน บางอย่างที่ทำให้เราสามารถบอกได้ว่ามันคือม้า ตามธรรมชาติม้าจะ “เลื่อนไหล” มันอาจจะแก่ พิการ และตายไปในที่สุด แต่ “แบบ” ของม้ายังคงอยู่ตลอดไป และไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับเพลโตสิ่งที่เที่ยงแท้และไม่เปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่ “สสารพื้นฐาน” (แนวคิดปฐมฐานของนักปรัชญายุคก่อน) แต่คือ แบบแผน ที่สรรพสิ่งทั้งหลายถอดออกมา
เพลโตเชื่อว่าทุกสิ่งในธรรมชิตที่เราจับต้องได้ล้วนไม่ยั่งยืนแน่นอน เพราะทุกสิ่งในโลกของความรู้สึกล้วนไม่ยั่งยืน เรารู้ว่าไม่วันใดวันหนึ่งมนุษย์ทุกคนและสัตว์ทุกตัวจะต้องตายและถูกย่อยสลาย กระทั่งภูผาก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงสึกกร่อนทีละน้อยๆ ประเด็นคือเราไม่มีทางเข้าถึงความจริงของสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราสามารถมีได้แต่ความเห็นเกี่ยว่กับสิ่งที่อยู่ในโลกแห่งประสาทสัมผัส เราจะสามารถมีความรู้ที่แท้จริง ได้เฉพาะในสิ่งที่เราเข้าใจได้ด้วยเหตุผล
เพลโตพบว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่น่าหลงใหล เพราะสถานะของคณิตศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มันจึงเป็นสถานะที่ทำให้เราสามารถมีความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับมันได้
เพลโตเชื่อว่าความจริงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ
-โลกแห่งประสาทสัมผัส ซึ่งเรามีความรู้ได้เพียงคร่าวๆ หรือไม่สมบูรณ์ ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ในโลกแห่งประสาทสัมผัสนี้ทุกอย่างเลื่อนไหล และไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ผ่านแล้วผ่านไป
-โลกของแบบ โลกที่เราสามารถเข้าถึงได้ด้วยการใช้เหตุผล เป็นโลกที่เที่ยงแท้และไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับเพลโต มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีทวิลักษณะ เรามีร่างกายที่เลื่อนไหล ผูกติดกับโลกแห่งประสาทสัมผัสอย่างแยกไม่ออก แต่เราก็มีวิญญาณอมตะ ที่ทำให้เราเข้าถึงอาณาจักรของเหตุผลอันนำไปสู่โลกของแบบที่เที่ยงแท้
เพลโตเชื่อว่าวิญญาณมีอยู่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาอยู่ในร่าง แต่ทันทีที่วิญญาณตื่นขึ้นมาในร่าง มันก็จะลืมแบบที่สมบูรณ์ และแล้วบางอย่างก็เกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่มหัศจรรย์ นั่นคือทันทีที่มนุษย์เริ่มค้นพบรูปแบบต่างๆในโลกธรรมชาติ ความทรงจำที่พร่าเลือนนี้จะกระตุ้นวิญญาณของมนุษย์ เมื่อเขาเห็นม้า ในโลกแห่งประสาทสัมผัสที่แม้จะไม่ใช่แม้ที่สมบูรณ์ แต่ก็เพียงพอที่จะปลุกความทรงจำอันเลือนลางเกี่ยวกับ “ม้า” ที่สมบูรณ์ในโลกของแบบ อันนำไปสู่การเรียกร้องที่จะกลับสู่จุดกำเนิดที่แท้จริงของมัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น